ILINK เผยรายได้ 9 เดือนตุน 3.9 พันล้าน ฟอร์มสวย Q3/63 กำไรโต 76%
ILINK เผยรายได้ 9 เดือนโกย 3,942.38 ลบ. ผลประกอบการ Q3/63 รายได้รวม 1,329.21 ลบ. บริหารต้นทุนสร้างกำไร 74.22 ลบ. โตเพิ่มขึ้น 76.56% แข็งแกร่งไม่หวั่น COVID-19 ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณแตกไลน์สินค้าใหม่ตามเทรนด์ดิจิทัล ส่ง Networking Product รุกตลาดใหญ่ ธุรกิจโทรคมนาคมกำไรพุ่ง แย้มงานใหม่เพียบ ตุน Backlog ยาว ธุรกิจวิศวกรรม ปิดงาน CC3 ลุยส่งมอบรถไฟฟ้า APM ครบ 6 ขบวนรับปีใหม่ และปลายปีนี้เตรียมลุยลงนามเพิ่มอีก 2 สัญญา
นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและ ผู้นำเข้าและค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ เปิดเผยว่า “ผลประกอบการไตรมาส 3/63 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 นั้น กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีรายได้รวมจำนวน 1,329.21 ล้านบาท ลดลง 27.57 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,835.04 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีจำนวน 74.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไร 32.18 ล้านบาท ตุนรายได้รวม 9 เดือน 3,942.38 ล้านบาท หลังบริษัทฯ มีงานเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ มั่นใจแนวโน้มโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 หนุนกำไรทั้งปี 2563 เติบโตดีอย่างแน่นอน”
สำหรับธุรกิจจัดจำหน่าย (Distribution) ไตรมาส 3/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 558.59 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 44.97 ล้านบาท ภาพรวมรายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลมีการประกาศวันหยุดชดเชยหรือวันหยุดพิเศษเพิ่มเติมหลายครั้ง จึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอตามแผนที่วางไว้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ LINK เป็นผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในประเทศไทย มีสินค้ามากกว่า 5,000 รายการ ซึ่งรายได้หลักของธุรกิจนี้ ร้อยละ 78% มาจากการขายสายสัญญาณคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (Cabling) ส่วนสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ (Networking) มีรายได้ 6% ของรายได้ทั้งหมด บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดเชิงรุกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Networking นี้ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนความต้องการในสินค้ามาก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง โดยเฉพาะอุปกรณ์สวิตช์ ที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายแข็งแกร่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถทำรายได้สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่า 100% ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายเพื่อมุ่งตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่หลากหลาย อาทิ สายไฟโซล่าเซล และสายไฟสำหรับติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่จะเป็นไฮไลท์ในไตรมาส 4 พร้อมผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดในอนาคตอีกด้วย
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ไตรมาส 3/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 470.87 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 29.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.52 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีรายได้หลักมาจากงานบริการโครงข่ายคิดเป็น 60% ของรายได้รวมทั้งหมด ส่วนรายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่ายคิดเป็น 35% ของรายได้รวมทั้งหมด และรายได้จากธุรกิจให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ คิดเป็น 5% ของรายได้รวมทั้งหมด บริษัทฯ รับรู้รายได้งานโครงการติดตั้งโครงข่ายที่สำคัญในงวดนี้ ได้แก่ โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง ระยะทาง 3,140 กิโลเมตร จำนวน 68 ล้านบาท โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 2) จำนวน 42 ล้านบาท และงานรับเหมาติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหนึ่ง จำนวน 27 ล้านบาท และยังมีงานในมือ (Backlog) อาทิเช่น งานโครงการอินเทอร์เน็ตพื้นที่ชายขอบ (USO Phase 1) โครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 2) โครงการจัดหาบริการคู่สายวงจรเช่า (Link) สำหรับธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ โครงการจ้างเหมาออกแบบและติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงระยะทาง 3,600 กิโลเมตร ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปีนี้และปีถัดๆ ไป สำหรับแนวโน้มไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การดำเนินธุรกิจยังอยู่ในทิศทางที่ดี พร้อมแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจในอนาคตต่อไป
สำหรับธุรกิจวิศวกรรม (Engineering) ไตรมาส 3/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 295.64 ล้านบาท โดยรายได้หลักที่รับรู้ในงวดนี้ มาจากงานโครงการที่สำคัญ คือ (1) โครงการ CC4 หรืองานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ส่งมอบรถไฟฟ้า APM ให้กับท่าอากาศยานไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น 4 ขบวน (จำนวนรวม 8 โบกี้) และคาดว่าจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้า APM อีก 2 ขบวนสุดท้ายในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 นี้ (2) โครงการก่อสร้างสายส่งเคเบิลใต้ดินที่จังหวัดเชียงใหม่ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (3) โครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี สถานีไฟฟ้าปัว และสถานีไฟฟ้าทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ซึ่งได้เริ่มทำงานมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา (4) โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และ (5) โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร สำหรับงานโครงการ Satellite Terminal (CC3) หรืองานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสาธารณูปโภค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 นั้น บริษัทฯ ได้ทำการส่งมอบงานซึ่งเสร็จสมบูรณ์ทั้งสิ้น 97% ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม งานคงเหลืออีก 3% ติดปัญหาพื้นที่หน้างานของบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินระบบ pipe jacking 115 เควี จำนวน 2 จุด ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้และเป็นเหตุสุดวิสัย ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ยื่นขออนุมัติขยายเวลากับทาง AOT และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เตรียมลงนามเพิ่มอีก 2 สัญญาภายในสิ้นปี 2563 นี้ ได้แก่ โครงการเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) ระบบ 33 เควี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เกาะปันหยี จ.พังงา มูลค่า 144 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสายส่ง (Transmission Line) ระบบ 115 เควี จ.ตรัง มูลค่า 317 ล้านบาท ดังนั้น จากการยื่นปิดโครงการ CC3 และงานโครงการอื่นๆที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จะสะท้อนภาพรวมของผลประกอบการและอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษมีทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป